Breaking News

มรส.นักศึกษาการจัดการทางวัฒนธรรม – กลุ่มประมงพื้นบ้านบึงขุนทะเล ร่วมรังสรรค์นวัตกรรมดันกุ้งฝอยเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ร่วมกับกลุ่มประมงพื้นบ้านเพื่อการอนุรักษ์บึงขุนทะเล รังสรรค์นวัตกรรมทางวัฒนธรรมผลักดันกุ้งฝอยเป็นผลิตภัณฑ์ กุ้งฝอยเขย่า น้ำพริกเผากุ้งฝอย และ ขนมหัวล้านไส้กุ้งฝอย พร้อมอนุรักษ์วิถีชีวิตและภูมิปัญญาการทำประมงพื้นถิ่นในชุมชนบึงขุนทะเลให้เกิดคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม ภายใต้โครงการนวัตกรรมทางวัฒนธรรมร่วมกับชุมชน ในรายวิชาการจัดการโครงการทางวัฒนธรรม โดยมี ดร.มาดล จรูญรัตน์ รองคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ฝ่ายพัฒนานักศึกษาและศิลปวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดโครงการ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2566 ณ ณ ศาลาศูนย์การเรียนรู้บึงขุนทะเล ต.ขุนทะเล อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี

นายสราวุธ โอชม ประธานโครงการนวัตกรรมทางวัฒนธรรมกับชุมชน กล่าวว่า โครงการดังกล่าวนี้ เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนการสอน ในรายวิชาการจัดการโครงการทางวัฒนธรรม มี ดร.ศิริอร เพชรภิรมย์ เป็นอาจารย์ประจำรายวิชา ต้องการฝึกฝนและสร้างการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงแก่นักศึกษา และได้สรุปเป็นการจัดโครงการนวัตกรรมทางวัฒนธรรมร่วมกับชุมชนบึงขุนทะเล ในกิจกรรมชื่อ “กุ้งฝอยบึงขุนทะเลกับการสร้างนวัตกรรมทางวัฒนธรรมร่วมกับชุมชน”

เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบริบทและของดีของบึงขุนทะเล เพื่อร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการยกยอสะสมกุ้งฝอยเพื่อใช้สำหรับทดลองสร้างนวัตกรรมทางวัฒนธรรมร่วมกันกับชาวบ้านบึงขุนทะเล ตลอดระยะเวลา 2 เดือน ที่ผ่านมา คือ เดือนกรกฎาคม – สิงหาคม จนสามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีกุ้งฝอยเป็นส่วนประกอบได้ 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ กุ้งฝอยเขย่า น้ำพริกเผากุ้งฝอย และ ขนมหัวล้านไส้กุ้งฝอย

ด้าน นายประจวบ จันทร์เกตุ ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้านเพื่อการอนุรักษ์บึงขุนทะเล กล่าวว่า บึงขุนทะเลเป็นบึงน้ำจืดตามธรรมชาติขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 1,000 ไร่ มีทรัพยากรธรรมชาติ สัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ เช่น กุ้ง หอย ปลา สาหร่าย ผักตบชวา เป็นจำนวนมาก ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมและประมง มีภูมิปัญญาด้านอาชีพประมง เช่น การยกยอ ตักอวน ทอดแห ตกปลา จากภูมิปัญญาเหล่านี้ได้นำมาร่วมพัฒนาและสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมร่วมกับนักศึกษาที่เล็งเห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรในท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้สู่ชุมชนต่อไป
——————————
#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
กนกรัตน์ ศรียาภัย /ข่าว
นภัทร ส้มแก้ว /ถ่ายภาพ

Ads – Baansuay Group full

About The Author

Related posts