Breaking News

ทีมไข่เค็มฯ มรส. แฟรชม็อบแนะน้องอาชีวะสุราษฎร์ฯ ใช้สื่อดิจิทัลอย่างรู้เท่าทัน

นักศึกษาทีมไข่เค็มอคาเดมี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จัดกิจกรรมแฟลชม็อบ (Flash Mob) ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี มุ่งสร้างการรับรู้ ใช้สื่ออย่างมีสติ เสริมทักษะการเป็นพลเมืองดิจิทัล.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่าเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน และข้อมูลข่าวสารจำนวนมากที่ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านสื่อดิจิทัล ทำให้เราทุกคนในฐานะผู้เปิดรับข่าวสารผ่านสื่อ ต้องรู้จักแยกแยะข่าวสารก่อนจะเชื่อหรือแชร์ข้อมูลออกไปรวมถึงการนำเอาข้อมูลหรือองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อตนเองและสังคมส่วนรวมซึ่งสอดคล้องกับคุณลักษณะความเป็นนักสื่อสารซึ่งเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ของบัณฑิตวิศวกรสังคมของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

“มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มุ่งผลิตบัณฑิตเพื่อรับใช้ชุมชนท้องถิ่น เราพัฒนานักศึกษาด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้และประสบการณ์ทั้งในและนอกห้องเรียน ซึ่งการทำกิจกรรมนอกห้องเรียนของนักศึกษาจะเป็นการฝึกฝนทักษะการเรียนรู้ที่ทำให้นักศึกษามีอัตลักษณ์ของบัณฑิตวิศวกรสังคม ทั้งทักษะการเป็นนักคิด นักประสาน นักสื่อสารและนักนวัตกร” รักษาการอธิการบดีกล่าว.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เตชธรรม สังข์คร คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า คณะวิทยาการจัดการมีหลักสูตรนิเทศศาสตร์ที่จัดการเรียนรู้ใน 2 สาขาวิชา คือ การสื่อสารมวลชนและสื่อดิจิทัล

และนวัตกรรมการสื่อสารองค์กรและการจัดการอีเว้นท์ ซึ่งมีการออกแบบการจัดการเรียนการสอนให้นักศึกษาได้ศึกษาองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพการเป็นนักสื่อสารด้วยการฝึกปฏิบัติการ

นายกิจติพงศ์ บู้หลง รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากิจการนักเรียนนักศึกษา วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานีมีแนวทางการพัฒนานักเรียนนักศึกษาให้มีความรู้ ความคิด และทักษะที่หลากหลาย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการใช้สื่อหลากหลายช่องทาง เราฝึกทักษะนักเรียนนักศึกษาให้มีวิธีการคิด วิเคราะห์สื่อ และแยกแยะข้อมูล เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ที่เท่าทันสื่อดิจิทัล รวมถึงให้เขาสามารถสร้างสื่อได้อย่างเหมาะสม

.

นางสาวกฤติยา ใข่สังข์ หัวหน้าทีมไข่เค็มอคาเดมี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ (Flash Mob) มีแนวคิดมาจากพฤติกรรมการเปิดรับสื่อออนไลน์ในปัจจุบันที่นิยมเปิดรับสื่อผ่านโซเชียลมีเดียบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของผู้คน ทีมไข่เค็มอคาเดมีจึงใช้กิจกรรมแฟลชม็อบ (Flash Mob) เพื่อสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) ให้กับกลุ่มเป้าหมายว่าต้องรู้จักใช้สื่ออย่างมีสติ และผลิตสื่อไวรัลคลิป (Viral Clip) และโปสเตอร์ (Poster) โดยเผยแพร่ผ่านเพจไข่เค็มอคาเดมี (KaiKem Academy) เพื่อให้ผู้ติดตามได้ทำความเข้าใจและได้ความรู้ (Knowledge) ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายได้.

นางสาวสุพรรณี ดำชะอม และนายณัฏฐภูมิ คงเหล่ นักเรียนวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี แสดงความคิดเห็นว่า การใช้สื่อในปัจจุบันมีทั้งการโพสต์ในสิ่งที่ไม่ควร ไม่ถูกต้อง หรือไม่เหมาะสม ซึ่งเราควรคิดก่อนโพสต์หรือแชร์เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อทั้งตนเองและผู้อื่น รวมถึงการใช้สื่อออนไลน์อย่างระมัดระวัง เช่น การกดลิงก์ หรือการให้ข้อมูลส่วนตัวของเรากับผู้อื่น เป็นต้น

.

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทัศนาวดี แก้วสนิท อาจารย์ที่ปรึกษาทีมไข่เค็มอคาเดมี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ (Flash Mob) เป็นส่วนหนึ่งของสื่อเพื่อการรณรงค์ในโครงการเด็กใต้รู้หวันทันสื่อที่มีแนวคิดในการติดอาวุธทางปัญญาให้กับวัยรุ่นได้รู้จักใช้สื่ออย่างตื่นรู้และตื่นตัว หรือเรียกว่า การรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล (Digital Media Literacy) ภายใต้โครงการนักสร้างสรรค์ไอเดียสื่อสารขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ ปี 2566 หรือคิดดีไอดอล ปีที่ 7 ด้วยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทั้งนี้ โครงการนักสร้างสรรค์ไอเดียสื่อสารขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ ปี 2566 (คิดดีไอดอล ปีที่ 7) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้มีการทำกิจกรรมสร้างสรรค์สื่อร่วมกับแกนนำนักเรียนนักศึกษาจากสถาบันการศึกษา 15 แห่งทั่วประเทศ โดยทีมไข่เค็มอคาเดมี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้ออกแบบกิจกรรมสื่อสารสร้างสรรค์โดยจัดกิจกรรมแฟลชม็อบ (Flash Mob) ขึ้น ณ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนนักศึกษาและประชาชนบริเวณรอบวิทยาลัยฯ เป็นจำนวนมาก


#สื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ข่าวและภาพโดย ทีมไข่เค็มอคาเดมี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

 

Ads – Baansuay Group full

About The Author

Related posts