Breaking News

ม.ราชภัฏสุราษฎร์ฯ เปิดเส้นทางท่องเที่ยววัฒนธรรมชู “ภูมิปัญญามะพร้าวเกาะพะงัน”  หวังลูกหลานหวงแหนร่วมอนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอด

มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี โดยโครงการจัดตั้งกองบริการวิชาการเพื่อพัฒนาท้องถิ่น สถาบันวิจัยและพัฒนา แถลงข่าวสรุปผลการดำเนินโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เพื่อศึกษา พัฒนา อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมะพร้าว ในฐานะหน่วยงานสนองงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรม ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ชูภูมิปัญญามะพร้าวเกาะพะงัน บูรณาการศาสตร์

เปิดเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม หนุนเสริมหลักสูตรการศึกษาเชิงพื้นที่ฐานทรัพยากรชุมชนเกาะพะงัน ผลักดันเครื่องดื่มจากน้ำมะพร้าวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดย ผศ.ดร.วัฒนา รัตนพรหม รักษาราชการแทนอธิการบดี มรส. มอบหมายให้ ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์และเครือข่ายสังคม เป็นประธานการแถลงข่าว

พร้อมด้วย ดร.ศิริอร เพชรภิรมย อาจารย์ประจำสาขาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ หัวหน้าโครงการการจัดการทุนทางวัฒนธรรมมะพร้าวเกาะพะงัน ผศ.ดร.อุราภรณ เรืองวัชรินทร อาจารย์ประจำสาขาวิชานวัตกรรมอาหารและโภชนาการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หัวหน้าโครงการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปเครื่องดื่มจากน้ำมะพร้าวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

นายสฤษดิ์ โชติชวง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวสวนมะพร้าวเกาะพะงัน (เกษตรแปลงใหญ่) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2566 ณ สวนโกบุย ตำบลบ้านใต้ อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ดร.สมปราชญ์ วุฒิจันทร์ รองอธิการบดีฝ่ายฝ่ายพันธกิจสัมพันธ์และเครือข่ายสังคม กล่าวว่า เกาะพะงันเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี กำหนดเป็นพื้นที่ในการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช เพื่อศึกษา พัฒนา อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมะพร้าว เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เป็นต้นกำเนิดของมะพร้าวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบันพบว่า มะพร้าวในพื้นที่เกาะพะงันเหลือน้อยลง

เนื่องจากประชาชนหันมาประกอบอาชีพให้บริการด้านการท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มากขึ้น ทำให้ความสำคัญของการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมะพร้าวลดลง จากสถานการณ์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยฯ ในฐานะหน่วยงานสนองงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จึงเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ของมะพร้าวเกาะพะงัน จึงดำริที่จะใช้กรอบแนวทางในการดำเนินงานตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มาใช้ในการดำเนินงานโครงการ ซึ่งดำเนินงานโครงการมาตั้งแต่ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน.

ด้าน ดร.ศิริอร เพชรภิรมย อาจารย์ประจำสาขาการจัดการทางวัฒนธรรม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ หัวหน้าโครงการการจัดการทุนทางวัฒนธรรมมะพร้าวเกาะพะงัน กล่าวว่า มะพร้าว สำหรับชาวเกาะพะงันเปรียบเสมือนกับชีวิตของคนเกาะพะงัน จึงมีกุศโลบาย เรื่องการปลูกฝังให้ทุกคนบนเกาะพะงันมีใจรักในมะพร้าว ใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของมะพร้าวมาประกอบอาชีพ สืบทอดกันมาหลายยุคหลายสมัย “มะพร้าวฝังรก” เป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่บรรพบุรุษสร้างขึ้นมา เพื่อให้ทุกคนรักบ้านเกิดไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง โดยให้มะพร้าวเป็น “มะพร้าวคู่บารมี” มะพร้าวไม่ได้เป็นเพียงต้นไม้ ที่สร้างรายได้ แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง จากการศึกษาและเก็บข้อมูลพบว่าเกาะพะงันมีทรัพยากรวัฒนธรรม ทุนทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าว หลากหลายด้าน จำเป็นต้องอนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอดและบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นความรู้เพื่อให้ชาวบ้านและเยาวชนสามารถศึกษาเรียนรู้ต่อไปไม่ให้สูญหายและนำเสนอต่อนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง

สำหรับการดำเนินงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ มหาวิทยาลัยได้ดำเนินงานตามกรอบแนวทางการดำเนินงานประกอบด้วย 1.กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร 2. กรอบการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและ 3. กรอบการสร้างจิตสำนึก โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ได้มีการลงพื้นที่ดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2563 ขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม “ภูมิปัญญามะพร้าวเกาะพะงัน” ภายใต้ กิจกรรมการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม “ภูมิปัญญามะพร้าวเกาะพะงัน” จนได้เส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมภูมิปัญญามะพร้าว เช่น จุดเรียนรู้การทำน้ำมันมะพร้าว จุดเรียนรู้โรงย่างมะพร้าว จุดเรียนรู้การทำอาหารจากมะพร้าว และจุดเรียนรู้มะพร้าวฝังรก เป็นต้น กิจกรรมอบรมมัคคุเทศก์ “เส้นทางมะพร้าวเกาะพะงัน” ได้อบรมพัฒนาไกด์ท้องถิ่น (นักสื่อความหมาย) โดยใช้เยาวชนและประชาชนในพื้นที่มาร่วมฝึกอบรมการเป็นไกด์ท้องถิ่นเพื่อนำนักท่องเที่ยวชมวิถีชีวิตวัฒนธรรมภูมิปัญญาจากมะพร้าว กิจกรรม จัดทำ VDO เส้นทางท่องเที่ยว เพื่อแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมภูมิปัญญาจากมะพร้าวเกาะพะงัน โครงการการหนุนเสริมการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาเชิงพื้นที่ฐานทรัพยากรชุมชนเกาะพะงัน : มะพร้าว ภายใต้ กิจกรรมการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาเชิงพื้นที่ฐานทรัพยากรชุมชนเกาะพะงัน กลุ่มสาระสังคมศึกษาฯ กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ กลุ่มสาระภาษาอังกฤษ กลุ่มสาระศิลปะฯ กลุ่มสาระปฐมวัย ได้พบว่ามีการนำหลักสูตรไปปรับใช้ในการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียนในพื้นที่อำเภอเกาะพะงัน ทุกโรงเรียน เพื่อสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรมะพร้าวของเยาวชนในพื้นที่เกาะพะงัน และโครงการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปเครื่องดื่มจากน้ำมะพร้าวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ได้นำน้ำมะพร้าวมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม เช่น ค๊อกเทล ม๊อกเทล และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ หวังเพื่อให้เป็นเครื่องดื่มอัตลักษณ์ของชาวเกาะพะงันเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว

.

และในปีต่อไป มหาวิทยาลัยมีแผนที่จะต่อยอดด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ให้ครบวงจรมากขึ้น โดยร่วมมือกับภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจนำเที่ยว และการสร้างจุดเรียนรู้ภูมิปัญญามะพร้าวในระดับพื้นที่ให้เป็นที่น่าสนใจ เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวชุมชน โดยใช้มะพร้าว และภูมิปัญญาจากมะพร้าว เป็นสื่อกลางในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ต่อไป

—————————————————-

กนกรัตน์ ศรียาภัย /ข่าว

 

 

Ads – Baansuay Group full

About The Author

Related posts